วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ชีวิตจริง...ยิ่งกว่าละคร

ชีวิตจริง...ยิ่งกว่าละคร

“ดร.กฤษณา คุณรู้จักข้อตกลง TRIPS มั้ย TRIPS คือ ข้อตกลงทางการค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นใบเบิกทางสู่ความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทย ถ้าเราไม่ได้เซ็นข้อตกลงนี่-ก็จะถูกมองว่าเป็นพวกด้อยพัฒนาล้าหลัง แต่ไทยเราได้เซ็น…ซึ่งแปลว่าเราได้ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจแบบประเทศพัฒนาแล้ว ...ดร.กฤษณา-คุณกำลังเดินเข้ากองไฟนะแล้วคุณกำลังจะลากประเทศไทยให้ไปมีปัญหาทางการค้ากับอเมริกาด้วย ประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีดำจะถูกกีดกันทางการค้าอย่างเจ็บปวดแสนสาหัสทีเดียวล่ะ”

ไม่ว่าจะผ่านไปแล้วสักกี่สิบปี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับประเทศไทย และอีกหลายประเทศกำลังพัฒนาที่อาจหาญพยายามสานฝันให้คนเข้าถึงยาถ้วนหน้า

เมื่อใดก็ตามที่มี ใคร กลุ่มใด หรือกลไกใดพยายามที่จะลดการผูกขาด ทำให้ยามีราคาถูกลง เมื่อนั้นก็จะมีกระแสกดดันอย่างหนักและรุนแรงจนถึงการโต้ตอบกลับจากอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ รัฐบาลประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป หรือ สวิตเซอร์แลนด์ หรือแม้กระทั่งหน่วยงานรัฐบางหน่วยงานในไทยเอง

คำถามคือ ปัญหาอยู่ที่ตรงไหน อยู่ที่ คนอย่าง ดร.กฤษณา และเครือข่ายที่รณรงค์เพื่อการเข้าถึงยาที่ไม่เคารพกฎหมาย เป็นไอ้พวกขี้ขโมย หรือ ปัญหาอยู่ที่ระบบทรัพย์สินทางปัญญา และความโลภของทุน

จากระบบสิทธิบัตรในเรื่องของยาที่มีการบิดเบือนเจตนารมณ์ที่ดีของกฎหมายในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา จนก่อให้เกิดปัญหาการผูกขาด ทำให้ยาราคาสูงเกินกว่าความสามารถที่ผู้บริโภคจะจ่ายได้ ยาติดสิทธิบัตรส่วนใหญ่มีราคาต่อหน่วยสูงเกินกว่า 10 เท่าของค่าครองชีพต่อวัน เป็นปัญหาสำคัญของการเข้าไม่ถึงยาของประชาชน ไม่ว่าระบบบริการสุขภาพของไทยจะก้าวหน้ากว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพไม่ระบบใดก็ระบบหนึ่ง แต่จากค่ายาที่สูงเช่นนี้ ทำให้ชุดสิทธิประโยชน์ของรัฐไม่สามารถครอบคลุมในทุกโรคได้ โดยเฉพาะในโรคที่มีค่าใช้จ่ายในด้านยาและการรักษาพยาบาลที่สูง จึงมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องเสียชีวิตทั้งที่มียารักษาพวกเขาได้ แต่เพราะเขาจนเกินไป จึงไม่มีสิทธิเข้าถึงยานั้น

นอกจากนี้กระบวนการจดสิทธิบัตรที่ยังมีปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งความไม่พร้อมของบุคลากร ฐานข้อมูลสิทธิบัตร ก่อให้เกิดปัญหาสิทธิบัตรชั่วโคตร (evergreening patent) มากมาย การกระตุ้นวิจัยและพัฒนายาภายใต้ระบบสิทธิบัตรโดยบรรษัทยาข้ามชาตินั้น ก็เป็นการกระตุ้นการวิจัยเพื่อสนองตอบต่อยาเพื่อลีลาชีวิต (lifestyle drug) แทนที่จะแก้ปัญหาสาธารณสุข จึงทำให้ไม่มีการวิจัยและพัฒนายาสำหรับโรคบางโรค โดยเฉพาะโรคที่พบมากในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา แต่กลับทุ่มงบทำการตลาดเพื่อขายยาให้ได้ และต้องได้กำไรสูงสุด

คำถามต่อมาคือ เราจะยอมทนอยู่ในสภาพแบบเดียวกับที่ ดร.กฤษณาต้องเผชิญมาเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว หรือ เราจะลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน
1. ร่วมกันผลักดันยุทธศาสตร์เข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทยให้ไปสู่การปฏิบัติจริง
2. ร่วมกันเสนอรายชื่อเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร, พ.ร.บ. ยา และเสนอ พ.ร.บ.เข้าถึงยา เพื่อสร้างกลไกกำกับราคายา จัดหายาจำเป็นราคาถูก ขจัดการผูกขาดตลาดยา และต้องนำไปสู่การพัฒนาระบบสิทธิบัตรที่เน้นการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยและผู้บริโภค ควบคู่กับการส่งเสริมการประดิษฐ์คิดค้น และการถ่ายทอดเทคโนโลยีของคนไทย

แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.thaihealthconsumer.org

1 ความคิดเห็น:

  1. ขออนุญาติก๊อบปี้เรื่องนี้ไปไว้ที่เวบไซดือาจารย์นะครับ
    www.prasanya.org

    ตอบลบ