วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2552

แถลงข่าวนางฟ้านิรนาม

กำหนดการแถลงข่าว

ละครเวที นางฟ้านิรนาม
ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 4
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

18 สิงหาคม 2552

ละครเวทีเรื่อง “นางฟ้านิรนาม”
17.30-17.45 เชิญสื่อมวลชนลงทะเบียน
17.45-18.15 เปิดการแถลงข่าวละครเวที “นางฟ้านิรนาม”
โดย ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ ปี 2009
รศ.ภก.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคฯ (คคส.) จุฬาฯ
คุณตรัสวิน จิตติเดชารักษ์ เจ้าของสำนักพิมพ์ Silkworm Books
(เจ้าของลิขสิทธิ์บทละครภาษาไทยเรื่อง Cocktail)
คุณฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ผู้อำนวยการ มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ
ดร. กุลธิดา มณีรัตน์ ผู้อำนวยการแสดง และ
อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

ดำเนินรายการโดย
ดร. ปริดา มโนมัยพิบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
18.15-18.30 เชิญสื่อมวลชนสัมภาษณ์ผู้ร่วมแถลงข่าว
18.30-19.00 เชิญสื่อมวลชนเข้าโรงละคร
19.00-21.00 จัดแสดงละครเวที “นางฟ้านิรนาม”

ชีวิตจริง...ยิ่งกว่าละคร

ชีวิตจริง...ยิ่งกว่าละคร

“ดร.กฤษณา คุณรู้จักข้อตกลง TRIPS มั้ย TRIPS คือ ข้อตกลงทางการค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นใบเบิกทางสู่ความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทย ถ้าเราไม่ได้เซ็นข้อตกลงนี่-ก็จะถูกมองว่าเป็นพวกด้อยพัฒนาล้าหลัง แต่ไทยเราได้เซ็น…ซึ่งแปลว่าเราได้ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจแบบประเทศพัฒนาแล้ว ...ดร.กฤษณา-คุณกำลังเดินเข้ากองไฟนะแล้วคุณกำลังจะลากประเทศไทยให้ไปมีปัญหาทางการค้ากับอเมริกาด้วย ประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีดำจะถูกกีดกันทางการค้าอย่างเจ็บปวดแสนสาหัสทีเดียวล่ะ”

ไม่ว่าจะผ่านไปแล้วสักกี่สิบปี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับประเทศไทย และอีกหลายประเทศกำลังพัฒนาที่อาจหาญพยายามสานฝันให้คนเข้าถึงยาถ้วนหน้า

เมื่อใดก็ตามที่มี ใคร กลุ่มใด หรือกลไกใดพยายามที่จะลดการผูกขาด ทำให้ยามีราคาถูกลง เมื่อนั้นก็จะมีกระแสกดดันอย่างหนักและรุนแรงจนถึงการโต้ตอบกลับจากอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ รัฐบาลประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป หรือ สวิตเซอร์แลนด์ หรือแม้กระทั่งหน่วยงานรัฐบางหน่วยงานในไทยเอง

คำถามคือ ปัญหาอยู่ที่ตรงไหน อยู่ที่ คนอย่าง ดร.กฤษณา และเครือข่ายที่รณรงค์เพื่อการเข้าถึงยาที่ไม่เคารพกฎหมาย เป็นไอ้พวกขี้ขโมย หรือ ปัญหาอยู่ที่ระบบทรัพย์สินทางปัญญา และความโลภของทุน

จากระบบสิทธิบัตรในเรื่องของยาที่มีการบิดเบือนเจตนารมณ์ที่ดีของกฎหมายในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา จนก่อให้เกิดปัญหาการผูกขาด ทำให้ยาราคาสูงเกินกว่าความสามารถที่ผู้บริโภคจะจ่ายได้ ยาติดสิทธิบัตรส่วนใหญ่มีราคาต่อหน่วยสูงเกินกว่า 10 เท่าของค่าครองชีพต่อวัน เป็นปัญหาสำคัญของการเข้าไม่ถึงยาของประชาชน ไม่ว่าระบบบริการสุขภาพของไทยจะก้าวหน้ากว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพไม่ระบบใดก็ระบบหนึ่ง แต่จากค่ายาที่สูงเช่นนี้ ทำให้ชุดสิทธิประโยชน์ของรัฐไม่สามารถครอบคลุมในทุกโรคได้ โดยเฉพาะในโรคที่มีค่าใช้จ่ายในด้านยาและการรักษาพยาบาลที่สูง จึงมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องเสียชีวิตทั้งที่มียารักษาพวกเขาได้ แต่เพราะเขาจนเกินไป จึงไม่มีสิทธิเข้าถึงยานั้น

นอกจากนี้กระบวนการจดสิทธิบัตรที่ยังมีปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งความไม่พร้อมของบุคลากร ฐานข้อมูลสิทธิบัตร ก่อให้เกิดปัญหาสิทธิบัตรชั่วโคตร (evergreening patent) มากมาย การกระตุ้นวิจัยและพัฒนายาภายใต้ระบบสิทธิบัตรโดยบรรษัทยาข้ามชาตินั้น ก็เป็นการกระตุ้นการวิจัยเพื่อสนองตอบต่อยาเพื่อลีลาชีวิต (lifestyle drug) แทนที่จะแก้ปัญหาสาธารณสุข จึงทำให้ไม่มีการวิจัยและพัฒนายาสำหรับโรคบางโรค โดยเฉพาะโรคที่พบมากในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา แต่กลับทุ่มงบทำการตลาดเพื่อขายยาให้ได้ และต้องได้กำไรสูงสุด

คำถามต่อมาคือ เราจะยอมทนอยู่ในสภาพแบบเดียวกับที่ ดร.กฤษณาต้องเผชิญมาเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว หรือ เราจะลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน
1. ร่วมกันผลักดันยุทธศาสตร์เข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทยให้ไปสู่การปฏิบัติจริง
2. ร่วมกันเสนอรายชื่อเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร, พ.ร.บ. ยา และเสนอ พ.ร.บ.เข้าถึงยา เพื่อสร้างกลไกกำกับราคายา จัดหายาจำเป็นราคาถูก ขจัดการผูกขาดตลาดยา และต้องนำไปสู่การพัฒนาระบบสิทธิบัตรที่เน้นการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยและผู้บริโภค ควบคู่กับการส่งเสริมการประดิษฐ์คิดค้น และการถ่ายทอดเทคโนโลยีของคนไทย

แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.thaihealthconsumer.org