วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ชีวิตจริงยิ่งกว่าบทละคร ของเภสัชกรยิปซี

กรุงเทพธุรกิจ

16 กรกฎาคม 2552

ชีวิตจริงยิ่งกว่าบทละคร ของเภสัชกรยิปซี

โดย : ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เจ้าของรางวัลแมกไซไซคนล่าสุด บรอดเวย์เคยนำชีวิตของเธอไปสร้างเป็นละคร และคณะอักษรฯ จุฬาฯ เตรียมนำมารีเมคอีกครั้ง

ถ้าเจอคำถามประเภท "เป็นคนที่ไหน?" "ชีวิตที่ผ่านมาเป็นอย่างไร" "ต้องต่อสู้มากแค่ไหน" หรือ "เหนื่อยบ้างไหม" ...คนตอบจะถามกลับอย่างสุภาพว่า "ไปหาในกูเกิลดีกว่าไหมคะ"

เพียงแค่พิมพ์ชื่อ กฤษณา ไกรสินธุ์ ประวัติไม่ว่าสั้น-ยาว หรือเรื่องราวชีวิตและการทำงาน จะขึ้นมาให้อ่านกว่าหมื่นรายการ...เจ้าตัวยืนยันเองเพราะเพิ่งเช็คมาเมื่อต้นอาทิตย์

หากการบินกลับมาทำธุระเงียบๆ ที่เมืองไทยคราวนี้ เภสัชกรหญิง ดีกรีดอกเตอร์ กลับดังขึ้นมาอีกครั้ง เพราะเจ้าตัวเพิ่งได้รับจดหมายแจ้งว่าได้รับ รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ในปีนี้ ซึ่งจะประกาศอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม

"รู้สึกอย่างไรบ้างคะ กับรางวัลล่าสุด" ...คำถามที่ต้องตอบบ่อยที่สุด

"รางวัลไหนคะ?" คนตอบกลับทำหน้างงๆ

"แมกไซไซค่ะ" ไม่เกิน 2 วินาที นางสิงห์ของชาวแอฟริกา ก็ "อ๋อ" พร้อมระเบิดเสียงหัวเราะดังลั่น

"ปีนี้ได้ 6 รางวัลแล้วค่ะ เวียนหัวไปหมด ไม่อยากไปรับที่ไหนแล้ว ไปรับบ่อยมากเลย ไหนจะต้องเดินทางไป-กลับอีก เสียเวลาไปรู้ตั้งกี่วัน"

ด้วยสีหน้าเรียบเฉย เจ้าตัวบอกว่าได้รางวัลเยอะมาก จนถูกหาว่าเป็นนักล่ารางวัล

"เฉยๆ ค่ะ เราก็แค่ ได้อีกแล้วเหรอ ไม่ได้ตื่นเต้น ยินดี หรือเวลาใครชื่นชมมากๆ ก็อยากให้เขาคิดแค่ว่า ปล่อยแกไปเถอะ ให้แกไปอยู่ตามยถากรรมของแกเถอะ (หัวเราะ)"

ดูท่า เรื่องรางวี่ รางวัล จะไม่ค่อยเวิร์คเสียแล้ว แต่กับธุระอีกเรื่อง ดร.กฤษณา กลับคุยได้ยาว เล่าสนุกเป็นชั่วโมงๆ

เพราะก่อนหน้านี้ไม่เกินชั่วโมง เธอเพิ่งพบกับทีมละครเวที "นางฟ้านิรนาม" จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย อ.ดังกมล ณ ป้อมเพชร ที่เตรียมจะเปิดม่านในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

นางฟ้านิรนาม คือ บทละครชีวิตและงานของ "เภสัชกรยิปซี" สมญาที่ได้มาจาก นิตยสารคู่สร้างคู่สม ซึ่งแปลมาจาก Cocktail ละครบรอดเวย์ฝั่งอเมริกา เมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งสร้างจากชีวิตจริง ดร.กฤษณา

"เป็นบทละครที่ดีมากค่ะ เพราะมันถูกต้องทุกอย่าง ทั้งชีวิตตอนเด็ก การทำงาน ความขัดแย้ง"
แต่ถ้าเป็นบทละครก็ต้องมีการปรับบทหรือ "เร้า" ให้เข้าถึงอารมณ์คนดู

"ไม่ใช่เลยนะคะ จริงๆ น้อยกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ อีก มันพูดยาก คนที่เขาแสดงเป็นเรา เขาอาจจะรู้สึกแต่เขาไม่ได้โดนกับตัวเอง เขาไม่รู้หรอกว่าขณะนั้นเรารู้สึกยังไง เราจำทุกคำที่เขาพูดกันได้ ผู้บริหารไทยนั่งอยู่ด้วยไม่มีใครช่วยเราสักคน"

ก่อนจะอ่านบทสัมภาษณ์บรรทัดถัดไป ควรอ่านบทละครบางส่วนในล้อมกรอบ เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้น...
หมายเหตุ : ชื่อตัวละครมีจริงบ้างสมมติบ้าง ใครที่ดีต่อส่วนรวมจะคงชื่อจริง แต่ใครที่ไม่ดี จะใช้ชื่อสมมติ และเนื้อเรื่องทั้งหมดเป็นความจริงทุกประการ ..เจ้าของเรื่องยืนยัน

@ ฉากที่โดนบริษัทยารุมทีเดียว 6 คน แล้วบทละครใช้สัญลักษณ์ "หมาเห่า" แทน คุณรู้สึกเหมือนอย่างนั้นเลยไหมคะ

(พยักหน้า) ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองถูกรุมกัดจริงๆ มันเหมือนทุกคนรุมเรา หมาทุกตัวรุมกัด เราไม่ได้บอกเขา แต่ปิง ชอง (คนเขียนบท) เก่ง ตีความได้หมด

@ ตอนนั้นโกรธ?

จะว่าโกรธก็คงไม่ใช่ แต่เขาดูถูกเราอย่างรุนแรงที่สุด เสียใจ รู้อยู่แล้วล่ะว่ามันพูดกันไม่รู้เรื่อง แต่ทำไมต้องดูถูกเรามากขนาดนี้

@ แล้วรักษาตัวเองอย่างไร

เราคงปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่เด็ก และพอทำใจได้บ้าง ไม่ตื่นเต้น แสดงอาการแพนิคอะไรออกมา ก็เฉยๆ เฉยมาตลอดไม่ว่าเรื่องอะไร ตอนนั้นก็โดนหลายทาง โดนหนังสือพิมพ์ด่าเต็มหน้า เยอะมาก แต่มันก็ผ่านมาแล้ว

แต่ฉากหมาเห่า หนักที่สุดแล้ว ส่วนในร้านมังสวิรัติไม่มีอะไรมาก เราก็ทะเลาะตามปกติของเรา เราเห็นว่าไม่ถูกต้อง เรามีจุดยืนของเรา จะเป็นใครก็ตาม เราไม่กลัว

@ แต่ก็ยังมีคนให้ความช่วยเหลือ?

ทิโด้ เป็นหมอจากมูลนิธิแพทย์ไร้พรมแดน เราจะได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากองค์กรภาคเอกชนหรือเอ็นจีโอทั้งในและต่างประเทศ ในองค์กรเองก็มีคนเห็นใจเราบ้าง แต่ไม่มาก

@ กำลังใจมาจากไหน

ตัวเอง จากคนอื่นมีเหรอ มันไม่มีหรอกค่ะ ต้องมาจากตัวเอง มีเต็มเปี่ยมเลยค่ะ แรงบันดาลใจมาจากไหนก็มาจากตัวเอง

@ ข้าราชดีๆ ยังพอมีอยู่ไหมคะ

(หัวเราะ) คือดีไม่ดี แล้วแต่ใครจะมองนะคะ ถ้าไม่มีดีเลย มันก็คงอยู่มาไม่ได้ มันต้องมีอยู่แล้วล่ะค่ะ เราอาจจะไม่เหมาะกับราชการไทยก็ได้ เพราะเป็นคนพูดตรงๆ ไม่เป็นคนตามน้ำ คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น

มันอยู่ที่คนไทยเราด้วย คนที่มีความคิดเป็นตัวของตัวเอง คงชอบระบบราชการน้อยมาก มันไม่มีโอกาสเลย ถ้าเรามีความคิดดีๆ แปลกใหม่ มันไม่มีโอกาสได้เอามาใช้เลย

@ มีโอกาสไปดูละครชีวิตตัวเองบ้างไหมคะ

เรื่องคอกเทลก็ได้ไปดูนะคะ แต่ดูแล้วมันเครียด เพราะไม่อยากดู แต่คนอื่นเขาคงชอบ ร้องห่มร้องไห้กัน แล้วเขาก็แสดงดี พอละครจบ เราเครียดว่าทำไมเรื่องของเราเอาออกมาอีกแล้วเหรอ ทำไมไม่จบๆ สักที ไม่อยากรับรู้อะไรอีก เราไม่รู้ว่าเอามาแสดงมันจะเกิดผลอะไร แต่คนเขียนบท เขาอยากให้โลกได้รับรู้ว่าความเห็นแก่ตัวหรือความเสียสละของคนๆ หนึ่ง ช่วยคนได้นับล้านคน ก็เข้าใจเขานะคะ แต่เราก็บอกคนเขียนบทไปว่า ปกติบทละครจะสร้างจากชีวิตคนที่ตายไปแล้วไม่ใช่เหรอ เพราะว่าคนนั้นไม่มีสิทธิทำเลวได้อีก แต่เรายังเป็นๆ อยู่ คือจริงๆ เราไม่ต้องดู เราก็รู้ว่าชีวิตเราเป็นยังไง ไม่ต้องมารีมายด์กันอยู่เรื่อยๆ เหมือนฉายซ้ำตลอดเวลา ไม่จบสักที

@ เหมือนโดนวางกรอบด้วยละคร?

ค่ะ ใช่ค่ะ พอเราเป็นคนสาธารณะมากขึ้นก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น จะสบายๆ มันไม่ได้
ยังไม่ต้องมาถึงสนามบิน เอาแค่บนเครื่อง ทุกคนรู้จักเราหมด กัปตัน แอร์ สจ๊วต รู้สึกอึดอัด เหมือนมีคนมองตลอดเวลา

@ แล้วตอนที่ทีมคอกเทลติดต่อมา ตอนนั้นไม่เริ่มเครียดแล้วเหรอคะ

ก็เครียด แต่มองอีกทีว่า เขาอุตส่าห์อยากทำเรื่องของเรา น่าจะให้โอกาสสักหน่อย เท่าที่คุยกับเขา (ปิง ชอง) ดูเป็นคนมีความตั้งใจ มีความสามารถ สุดท้ายก็เอา...ละครเพื่อสังคมครั้งหนึ่ง ก็เลยยอม

@ คิดว่าตัวเองตัดสินใจผิดไหมคะ

(หัวเราะ) เราตัดสินใจไปแล้วนะคะ ผิดไม่ผิดมันก็เกิดขึ้นแล้ว ไม่รู้ค่ะ เราทำไปแล้วก็แล้วกัน

@ สำหรับละครรอบสอง "นางฟ้านิรนาม" ล่ะคะ

ก็ไม่คิดนะคะ พอได้รับเมล์ของ อ.ดังกมล ช็อกเลยนะคะ เราเป็นคนใจอ่อน มองว่าอาจารย์เป็นคนตั้งใจดีเลยยอมให้ทำอีก ไอ้เราจะไปทำลายความหวังเค้า มันก็ยังไงไม่รู้
จริงๆ เป็นคนตรงไปตรงมา แต่ความเห็นใจมันก็มี เราจะมีศิลปะอยู่ในตัวเองสูงมาก กับอีกด้านคือวิทยาศาสตร์ สองด้านจะตีกันตลอดเวลา แต่ข้อดีคือเราสามารถทำอะไรที่มันละเอียดอ่อนได้ ถ้าไม่มีศิลปะอยู่ในตัวแล้ว เราคงทำยาคอกเทลไม่ได้ เพราะไปเห็นใจพี่ป่วย เขากินยาวันละ 6 เม็ดมันมากเกินไป โดยใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์มาปรุงยาตัวนี้

@ พอแสดงจริงก็ต้องไปดูอีกรอบ เครียดซ้ำ?

คราวนี้อาจจะเครียดมากกว่า เพราะมันจะเหมือนมากกว่า ก็กลัวว่าจะสะเทือนใจ แต่เราก็ต้องยอมรับความจริง
@ ตอนนี้ทำงานที่ประเทศไหน

บูรุนดี้ เป็นประเทศที่จนที่สุดในโลก รายได้ประชาชาติเขา 130 เหรียญ บ้านเรา 4,000
แต่มันเป็นที่ที่เราควรจะอยู่ มีความสุข มันโล่ง ไม่มีอะไรเลย มีธรรมชาติ สัตว์เยอะมาก ต้นไม้เยอะมาก เราไม่ต้องแคร์สายตาใคร เราก็ทำงานของเราไปเรื่อยๆ ไม่มีหัวโขนมาสวม เหมือนเราอยู่ตัวคนเดียวในโลกนี้ สบายดี ไม่มีห่วงอะไรเลย ก็อยู่ปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว และจะอยู่จนกว่าพวกเขาจะทำยาเองได้

@ เวลาย้ายไปประเทศใหม่ๆ จัดการอย่างไร กับความผูกพัน

ชินแล้วล่ะค่ะ เพราะพี่จากบ้านมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เลยไม่รู้สึกว่าจะต้องอยู่ตรงไหนนานๆ ก็มีความผูกพันต่อคนในท้องถิ่น แต่มันก็ต้องไป ถึงวันหนึ่งก็ต้องจาก มันเกิดขึ้นอย่างนี้เรื่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก
แต่พวกเขา อย่างคนคองโก บอกว่า เขาต้องคิดถึงพี่มากเลย พี่ก็บอกว่า ชั้นจะอยู่ใน แอฟรีเวีย (ยาต้านไวรัสเอดส์) ถ้าเธอคิดถึงชั้นก็ดูยาเม็ดนี้ แล้วทำให้ดีก็แล้วกัน ชั้นจะอยู่ที่นี่ ไม่ไปไหนหรอก

@ แต่ละประเทศจะเรียกคุณว่าอะไรบ้างคะ

ก็เรียก Mama tough บ้าง เรียกซิมบ้า จิกเก้,ไลออนเนส แปลว่า สิงโตตัวเมีย ซึ่งเป็นฝ่ายหาอาหารให้สิงโตตัวผู้นะ เข้มแข็ง แข็งแรง

@ คิดหรือไม่คะ ถ้าหลังละครเวทีคราวนี้จบ ชีวิตจะเป็นอย่างไรอีก

คงไม่อยู่ละค่ะ บ๊ายบายแล้ว (หัวเราะ) แค่นี้ยังจะเอาหน้ากากใส่เลย (หัวเราะ) บางทีไปสถานีรถไฟฟ้า ก็มีคนมาให้ดูหมอ เพราะสื่อเรียก "เภสัชกรยิปซี" ให้มาดูลายมือบ้าง เอาไพ่มาให้ดูบ้าง ก็บอกเขาไม่ได้เป็นหมอดู เป็นคนทำยา และเร่ร่อนไปเรื่อยๆ

@ ทุกวันนี้รายได้มาจากทางไหนบ้าง

หลายทาง เช่น ทางบ้าน ของตาย (หัวเราะ) กระทรวงการต่างประเทศ องค์การอนามัยโลก รัฐบาลเยอรมัน รัฐบาลอังกฤษ ฯลฯ เป็นโครงการๆ ไป เขาให้ค่าวิชาเราแพงนะคะ วันหนึ่งหลายหมื่นบาท ได้มาก็เลยแจกๆ ทั่วหมด และตั้งกองทุนของเราเอง เพื่อจะเอาเด็กไทย(เภสัช)ไปดูที่แอฟริกาว่าเขาลำบากยากแค้นแค่ไหน จะได้สำนึกบ้าง
เงินจากรางวัลต่างๆ อีกเยอะมาก นับไม่ได้เลย บอกไปเดี๋ยวมาเก็บภาษีเรา (ยิ้ม) กับอีกบัญชีส่วนตัว ทำเอาไว้เพื่อตั้งเป็นมูลนิธิเวลาเราตายไปแล้ว

@ เคยพูดเอาไว้ว่าทำงานเหมือนปฏิบัติธรรม

เราไม่ได้คิดว่าเป็นงาน ก็ทำไปเรื่อยๆ อย่าไปคิดว่ามีกลางวันกลางคืน ทุกอย่างเป็นสิ่งสมมติหมด พี่ก็ทำงานไปเรื่อยๆ ว่างอ่านหนังสือ ชอบแต่งกลอน เขียนหนังสือก็เขียนเอง ไม่มีโกสต์ไรเตอร์นะคะ เป็นคนชอบเขียนไดอารี่ ต้องบันทึกทุกวันก่อนนอน วันละ 30 นาที มีความสุข

@ มีปัญหาสุขภาพบ้างไหมคะ

ไม่มีเลยค่ะ (ตอบทันที) เพราะไม่ตรวจเลย ขี้เกียจตรวจ ตรวจเจอก็ต้องหยุด จะต้องลดนั่น ลดนี่ ลดได้ยังไง อาหารมีอยู่แค่นั้น ถ้าเราไม่กิน ก็อยู่ไม่ได้

@ ถ้าจบจากประเทศนี้ การจะไปที่ใหม่เลือกจากอะไรบ้าง

ต้องเป็นประเทศยากจน เป็น 1 ใน LCDs (Least Developed Countries) ซึ่งมี 26 ประเทศ ทำมาแล้ว 15 เหลืออีก 11
เราดูการเมือง ประธานาธิบดีประเทศนั้นว่างเป็นยังไง สืบละเอียด ต้องไม่แบ่งแยกเหนือใต้อย่างซูดาน เลือกตามไครทีเรียที่ตั้งเอาเอง ฝักใฝ่อเมริกาก็ไม่เอาแต่ในที่สุด ทำประเทศที่ชอบหมดแล้ว คงต้องไปทำในประเทศที่ไม่ชอบ เหมือนกินลูกชิ้นก่อนกินเส้น จะตายก็ตายอย่างมีคุณภาพเพราะกินโปรตีนหมดแล้ว(หัวเราะ) เหลือแต่แป้ง

วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์"

คมชัดลึก

11 ก.ค.52

มูลนิธิแม็กไซไซได้เลือก"ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์"เภสัชกรยิปซี อดีตผอ.สถาบันวิจัยแลพัฒนา องค์การเภสัชกรรม ผู้คิดค้นยาต้านไวรัสรวมเม็ด เป็นผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2552


มูลนิธิแม็กไซไซ อวอร์ดปีนี้ ได้คัดเลือก ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรยิปซี อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแลพัฒนา องค์การเภสัชกรรม ผู้คิดค้นยาต้านไวรัสรวมเม็ด เป็นผู้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2552 โดยดร.กฤษณา กล่าวว่า รู้สึกยินดีและซาบซึ้งที่ได้รับเกียรติ์คัดเลือกให้เป็นผู้รับรางวัลแมกไซไซในปีนี้ และขอขอบคุณ ซึ่งโดยส่วนตัวจะยังคงมุ่งมั่นการทำงานต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้คนเข้าถึงยาไม่ว่าจะในประเทศใด เป็นเป้าหมายการทำงานที่ยึดมาโดยตลอด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เพียงแต่อาจเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนสถานที่ทำงาน เปลี่ยนคนที่ต้องติดต่อเท่านั้น ซึ่งก็ถือเป็นกำลังใจในการทำงานให้ตน และขณะเดียวกันตนก็จะเป็นกำลังใจในการทำงานให้คนอื่นๆ เช่นกัน

“ส่วนตัวรู้สึกเฉยๆ กับทุกรางวัลที่ได้รับ เพราะไม่ว่าจะมีรางวัลหรือไม่ เราก็ยังต้องทำงานต่อไป เพราะการทำงานทีผ่านมาก็ไม่เคยหวังที่จะได้รับรางวัลใดๆ เราทำงานของเราไป แต่ก็ดีใจที่คนเห็นเรา ” ดร.กฤษณา กล่าว และว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอที่จะเดินทางไปประเทศบูรันดี ทวีปแอฟริกา แต่ต้องรอให้เครื่องจักรผลิตยาจากประเทศจีนส่งไปก่อน ซึ่งจะไปผลิตยารักษาโรคมาลาเรียได้

ประวัติของ ดร.กฤษณา เป็นชาว เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จบการศึกษาจาก โรงเรียนราชินี และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และไปศึกษาต่อปริญญาโท สาขาเภสัชวิเคราะห์ มหาวิทยาลัยสตราห์ไคลด์ และปริญญาเอก สาขาเภสัชเคมี มหาวิทยาลัยบาธ ประเทศอังกฤษ หลังจบการศึกษากลับมาทำงานเป็นอาจารย์ประจำ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จนเป็นหัวหน้าภาควิชาเภสัชเคมีในปี พ.ศ. 2524 และลาออกมาทำงานที่สถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม เป็นเวลา 22 ปี ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ในปี พ.ศ. 2542 ดร . กฤษณา ได้รับเชิญจาก องค์การอนามัยโลก ไปที่แอฟริกาเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตยาไวรัสเอดส์ให้กับผู้ป่วยที่นั่น หลังจากได้เห็นความยากลำบากของ เธอจึงตัดสินใจลาออกจากองค์การเภสัชกรรมในปี พ.ศ. 2545 และเดินทางไปแอฟริกา เพื่อช่วยดำเนินงานจนสามารถจัดตั้งโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ ชื่อ AFRIVIR ใน ประเทศคองโก ได้เป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2548 และผลิตยารักษามาลาเรีย ชื่อ Thai-Tanzunate ใน ประเทศแทนซาเนีย


ก่อนหน้านี้ ดร.กฤษณา ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์โลก ( Global Scientist Award) ประจำปี พ.ศ. 2547 จาก Letten Foundation ประเทศนอร์เวย์ และได้รับการยกย่องจากนิตยสารรีดเดอร์สไดเจสต์ ให้เป็นบุคคลแห่งปีของเอเชีย ประจำปี พ.ศ. 2551

ด้าน นายจอน อึ้งภากรณ์ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการภาครัฐ ปี 2548 กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ ดร.กฤษณา ได้รับเลือกให้เป็นผู้รับรางวัลแมกไซไซ ในปีนี้ ซึ่งรายละเอียดนั้นตนยังไม่ทราบ แต่ ดร.กฤษณา ถือเป็นผู้มีความเหมาะสมที่จะได้รับรางวัลนี้เพราะเป็นผู้ที่ต่อสู้กับอุตสาหกรรมยา ช่วยประชาชนให้เข้าถึงยา เป็นผู้คิดค้นสูตรยาต้านไวรัสเอดส์จีพีโอเวียร์ จนทำให้องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาในราคาถูกเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเอดส์เข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ป่วยในประเทศอื่นๆ เข้าถึงยา ไม่เพียงแต่ยาต้านไวรัสเอดส์ แต่ยังมียาวัณโรค มาลาเรีย เรียกว่าเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับโลกอย่างมาก

นายจอน กล่าวว่า หลังจากนั้น ดร.กฤษณาได้เดินทางไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา เพื่อช่วยให้ประชาชนในประเทศเหล่านั้นเข้าถึงยา ในมีคนไทยไม่กี่คนที่เดินทางทำงานในทวีปดังกล่าว เรียกว่า มีความเสียสละอย่างมาก ถือเป็นความตั้งใจของ ดร.กฤษณา ทั้งนี้คาดว่า ดร.กฤษณา น่าจะเข้ารับรางวัลในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ตนเข้ารับรางวัลเมื่อปี 2548 ซึ่งรายละเอียดแน่ชัดนั้น ตนไม่ทราบ นายจอน กล่าวต่อว่า จากความตั้งใจในการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาของ ดร.กฤษณา ถือเป็นแบบอย่างให้กับคนในประเทศ โดยเฉพาะผู้บริหารที่มีแนวคิดในการแปรรูปองค์การเภสัชกรรมเพราะถือเป็นเรื่องอันตรายมาก เนื่องจากองค์การเภสัชกรรมจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลในเรื่องยา โดยไม่หวังผลกำไร และที่ผ่านมา ดร.กฤษณาได้ต่อสู้อย่างมากกับอดีตผู้บริหารที่ขาดความเข้าใจ จึงควรยึดหลักการบริหารที่มุ่งให้ประชาชนเข้าถึงยา เพราะขณะนี้ยังมียาจำนวนมากที่ยังเป็นปัญหาต่อการเข้าถึง

ส่วน “ รางวัลแม็กไซไซ" ถือเป็นรางวัลทรงเกียรติ เปรียบเสมือนรางวัลโนเบลของกลุ่มประเทศเอเชีย เป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายรามอน แม็กไซไซ อดีตประธานาธิบดีคนที่ 3 ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งประชาชนยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ เนื่องจากแม็กไซไซเป็นผู้จัดตั้งขบวนการใต้ดิน ต่อสู้กับกองทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งยังเป็นหัวหน้าขบวนการเรียกร้องเอกราชของชาติและได้ทำงานทุ่มเทแรงงานแรงใจให้กับการช่วยเหลือคนยากไร้ ภายหลังจากนายรามอนประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากเครื่องบินตกเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2500 มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ อุทิศเงินจำนวน 10 ล้านบาทก่อตั้งมูลนิธิแม็กไซไซ อวอร์ดขึ้น เมื่อเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน การมอบรางวัลดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อรับรองและประกาศเกียรติคุณบุคคลที่อยู่ในเอเชีย ผู้อุทิศตนเพื่อรับใช้มนุษยชาติในทางสร้างสรรค์ ไม่จำกัดชาติ ศาสนา ภาษา เพศ หรือผิว


แบ่งเป็น 5 สาขาคือ สาขาปฏิบัติราชการ สาขาบริการสาธารณะ สาขาผู้นำชุมชน สาขาหนังสือพิมพ์และวรรณกรรม และสาขาส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ สำหรับปีใดหาผู้เหมาะสมไม่ครบตามสาขานั้นๆ ก็จะไม่มีการพิจารณามอบรางวัล ผู้ได้รับรางวัลจะได้รับเหรียญสดุดีและเงินรางวัลประมาณ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,000,000 บาท มอบกันที่กรุงมะนิลา ในวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของแม็กไซไซ