วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์"

คมชัดลึก

11 ก.ค.52

มูลนิธิแม็กไซไซได้เลือก"ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์"เภสัชกรยิปซี อดีตผอ.สถาบันวิจัยแลพัฒนา องค์การเภสัชกรรม ผู้คิดค้นยาต้านไวรัสรวมเม็ด เป็นผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2552


มูลนิธิแม็กไซไซ อวอร์ดปีนี้ ได้คัดเลือก ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรยิปซี อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแลพัฒนา องค์การเภสัชกรรม ผู้คิดค้นยาต้านไวรัสรวมเม็ด เป็นผู้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2552 โดยดร.กฤษณา กล่าวว่า รู้สึกยินดีและซาบซึ้งที่ได้รับเกียรติ์คัดเลือกให้เป็นผู้รับรางวัลแมกไซไซในปีนี้ และขอขอบคุณ ซึ่งโดยส่วนตัวจะยังคงมุ่งมั่นการทำงานต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้คนเข้าถึงยาไม่ว่าจะในประเทศใด เป็นเป้าหมายการทำงานที่ยึดมาโดยตลอด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เพียงแต่อาจเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนสถานที่ทำงาน เปลี่ยนคนที่ต้องติดต่อเท่านั้น ซึ่งก็ถือเป็นกำลังใจในการทำงานให้ตน และขณะเดียวกันตนก็จะเป็นกำลังใจในการทำงานให้คนอื่นๆ เช่นกัน

“ส่วนตัวรู้สึกเฉยๆ กับทุกรางวัลที่ได้รับ เพราะไม่ว่าจะมีรางวัลหรือไม่ เราก็ยังต้องทำงานต่อไป เพราะการทำงานทีผ่านมาก็ไม่เคยหวังที่จะได้รับรางวัลใดๆ เราทำงานของเราไป แต่ก็ดีใจที่คนเห็นเรา ” ดร.กฤษณา กล่าว และว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอที่จะเดินทางไปประเทศบูรันดี ทวีปแอฟริกา แต่ต้องรอให้เครื่องจักรผลิตยาจากประเทศจีนส่งไปก่อน ซึ่งจะไปผลิตยารักษาโรคมาลาเรียได้

ประวัติของ ดร.กฤษณา เป็นชาว เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จบการศึกษาจาก โรงเรียนราชินี และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และไปศึกษาต่อปริญญาโท สาขาเภสัชวิเคราะห์ มหาวิทยาลัยสตราห์ไคลด์ และปริญญาเอก สาขาเภสัชเคมี มหาวิทยาลัยบาธ ประเทศอังกฤษ หลังจบการศึกษากลับมาทำงานเป็นอาจารย์ประจำ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จนเป็นหัวหน้าภาควิชาเภสัชเคมีในปี พ.ศ. 2524 และลาออกมาทำงานที่สถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม เป็นเวลา 22 ปี ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ในปี พ.ศ. 2542 ดร . กฤษณา ได้รับเชิญจาก องค์การอนามัยโลก ไปที่แอฟริกาเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตยาไวรัสเอดส์ให้กับผู้ป่วยที่นั่น หลังจากได้เห็นความยากลำบากของ เธอจึงตัดสินใจลาออกจากองค์การเภสัชกรรมในปี พ.ศ. 2545 และเดินทางไปแอฟริกา เพื่อช่วยดำเนินงานจนสามารถจัดตั้งโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ ชื่อ AFRIVIR ใน ประเทศคองโก ได้เป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2548 และผลิตยารักษามาลาเรีย ชื่อ Thai-Tanzunate ใน ประเทศแทนซาเนีย


ก่อนหน้านี้ ดร.กฤษณา ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์โลก ( Global Scientist Award) ประจำปี พ.ศ. 2547 จาก Letten Foundation ประเทศนอร์เวย์ และได้รับการยกย่องจากนิตยสารรีดเดอร์สไดเจสต์ ให้เป็นบุคคลแห่งปีของเอเชีย ประจำปี พ.ศ. 2551

ด้าน นายจอน อึ้งภากรณ์ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการภาครัฐ ปี 2548 กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ ดร.กฤษณา ได้รับเลือกให้เป็นผู้รับรางวัลแมกไซไซ ในปีนี้ ซึ่งรายละเอียดนั้นตนยังไม่ทราบ แต่ ดร.กฤษณา ถือเป็นผู้มีความเหมาะสมที่จะได้รับรางวัลนี้เพราะเป็นผู้ที่ต่อสู้กับอุตสาหกรรมยา ช่วยประชาชนให้เข้าถึงยา เป็นผู้คิดค้นสูตรยาต้านไวรัสเอดส์จีพีโอเวียร์ จนทำให้องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาในราคาถูกเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเอดส์เข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ป่วยในประเทศอื่นๆ เข้าถึงยา ไม่เพียงแต่ยาต้านไวรัสเอดส์ แต่ยังมียาวัณโรค มาลาเรีย เรียกว่าเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับโลกอย่างมาก

นายจอน กล่าวว่า หลังจากนั้น ดร.กฤษณาได้เดินทางไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา เพื่อช่วยให้ประชาชนในประเทศเหล่านั้นเข้าถึงยา ในมีคนไทยไม่กี่คนที่เดินทางทำงานในทวีปดังกล่าว เรียกว่า มีความเสียสละอย่างมาก ถือเป็นความตั้งใจของ ดร.กฤษณา ทั้งนี้คาดว่า ดร.กฤษณา น่าจะเข้ารับรางวัลในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ตนเข้ารับรางวัลเมื่อปี 2548 ซึ่งรายละเอียดแน่ชัดนั้น ตนไม่ทราบ นายจอน กล่าวต่อว่า จากความตั้งใจในการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาของ ดร.กฤษณา ถือเป็นแบบอย่างให้กับคนในประเทศ โดยเฉพาะผู้บริหารที่มีแนวคิดในการแปรรูปองค์การเภสัชกรรมเพราะถือเป็นเรื่องอันตรายมาก เนื่องจากองค์การเภสัชกรรมจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลในเรื่องยา โดยไม่หวังผลกำไร และที่ผ่านมา ดร.กฤษณาได้ต่อสู้อย่างมากกับอดีตผู้บริหารที่ขาดความเข้าใจ จึงควรยึดหลักการบริหารที่มุ่งให้ประชาชนเข้าถึงยา เพราะขณะนี้ยังมียาจำนวนมากที่ยังเป็นปัญหาต่อการเข้าถึง

ส่วน “ รางวัลแม็กไซไซ" ถือเป็นรางวัลทรงเกียรติ เปรียบเสมือนรางวัลโนเบลของกลุ่มประเทศเอเชีย เป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายรามอน แม็กไซไซ อดีตประธานาธิบดีคนที่ 3 ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งประชาชนยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ เนื่องจากแม็กไซไซเป็นผู้จัดตั้งขบวนการใต้ดิน ต่อสู้กับกองทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งยังเป็นหัวหน้าขบวนการเรียกร้องเอกราชของชาติและได้ทำงานทุ่มเทแรงงานแรงใจให้กับการช่วยเหลือคนยากไร้ ภายหลังจากนายรามอนประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากเครื่องบินตกเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2500 มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ อุทิศเงินจำนวน 10 ล้านบาทก่อตั้งมูลนิธิแม็กไซไซ อวอร์ดขึ้น เมื่อเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน การมอบรางวัลดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อรับรองและประกาศเกียรติคุณบุคคลที่อยู่ในเอเชีย ผู้อุทิศตนเพื่อรับใช้มนุษยชาติในทางสร้างสรรค์ ไม่จำกัดชาติ ศาสนา ภาษา เพศ หรือผิว


แบ่งเป็น 5 สาขาคือ สาขาปฏิบัติราชการ สาขาบริการสาธารณะ สาขาผู้นำชุมชน สาขาหนังสือพิมพ์และวรรณกรรม และสาขาส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ สำหรับปีใดหาผู้เหมาะสมไม่ครบตามสาขานั้นๆ ก็จะไม่มีการพิจารณามอบรางวัล ผู้ได้รับรางวัลจะได้รับเหรียญสดุดีและเงินรางวัลประมาณ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,000,000 บาท มอบกันที่กรุงมะนิลา ในวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของแม็กไซไซ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น